รูป ๒ อย่าง

รูปมี ๒ อย่าง คือ

๑. รูปบัญญัติ คือ สิ่งที่เรามองเห็นกัน เรียกกันไปต่าง ๆ นา ๆ ทั้งที่ไม่มี ชีวิตจิตใจครอง และ มีชีวิตจิตใจครอง เช่น คนผู้หญิง คนผู้ชาย ก็มีชื่อต่างกัน ออกไป สัตว์ต่าง ๆ ตัวผู้ ตัวเมีย ก็มีชื่อเรียกกันต่าง ๆ กันไป ต้นไม้แต่ละชนิด ทั้งที่ยืนต้นและล้มลุก ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป รวมถึงพื้นดิน ภูเขา ห้วยน้ำ ลำคลอง เป็นต้น เหล่านี้เป็นรูปโดยบัญญัติ

๒. รูปปรมัตถ คือ รูปที่มีอยู่จริงๆ โดยสภาวะ โดยธรรมชาติ ผู้ที่ได้ศึกษา ได้เรียนรู้ ได้กระทบ ได้สัมผัส จะมีความรู้สึกเหมือนกันหมดเพื่อความเข้าใจง่าย และให้เห็นชัด ระหว่างรูปปรมัตถกับรูปบัญญัติ ขอยก ตัวอย่าง ดังนี้

ถ้าเอาถ่านไฟในเตาซึ่งติดไฟแล้วมาจี้ที่แขนของคน ๕ คน แต่ละคนจะรู้สึก ร้อนเหมือน ๆ กัน ถ้าเป็นคนไทยก็จะพูดว่าร้อน คนจีน คนพม่า คนอินเดีย คน ยุโรป ก็จะเปล่งภาษาออกมาไม่เหมือนกัน แต่มีความหมายเหมือนกันว่าร้อน ทุกคน มีความรู้สึกว่าร้อน นั่นคือ “จริงที่มีอยู่จริง” ส่วนคำอุทานแต่ละภาษาที่เปล่งออกมา นั้นไม่เหมือนกันนั้นเป็น “บัญญัติ”จริงที่มีอยู่จริง คือ ปรมัตถธรรม และไฟที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นหนึ่งในรูป ปรมัตถ คือ เตโชธาตุ นั่นเองรูปทั้งหมด เมื่อกล่าวโดยหัวข้อแล้วแบ่งได้เป็น ๕ นัย คือ นัยที่ ๑ รูปสมุทเทส เป็นการกล่าวถึงรูปโดยสังเขปหรือโดยย่อ พอให้ ทราบถึงลักษณะของรูปแต่ละรูปตามนัยแห่งปรมัตถธรรม

นัยที่ ๒ รูปวิภาค เป็นการแสดงรูปธรรมว่าจำแนกได้เป็นส่วนๆ เป็นคู่ ๆ

นัยที่ ๓ รูปสมุฏฐาน เป็นการแสดงถึงสมุฏฐานของรูปปรมัตถแต่ละรูปว่า เกิดจากอะไร

นัยที่ ๔ รูปกลาป เป็นการแสดงถึงรูปปรมัตถที่เกิดรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นหมวด ๆ เป็นมัด

นัยที่ ๕ รูปปวัตติกมะ เป็นการแสดงลำดับการเกิดดับ หรือแสดงความ เป็นไปของรูปปรมัตถ ตั้งแต่เกิดจนตาย

รูป คือ ส่วนประกอบของร่างกายคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. นิปผันนรูป มี ๑๘ } รวมเป็น ๒๘

๒. อนิปผันนรูปมี ๑๐รูปทั้ง ๒๘ แบ่งเป็น ๑๑ ประเภทเล็ก เป็นนิปผันนรูป ๗ ประเภท อนิปผันนรูป ๔ ประเภท

ประเภทที่ ๑ มหาภูตรูป มี ๔ รูป คือ

๑. ปฐวีธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน

๒. อาโปธาตุ ได้แก่ ธาตุน้ำ

๓. เตโชธาตุ ได้แก่ ธาตุไฟ

๔. วาโยธาตุ ได้แก่ ธาตุลม

ประเภทที่ ๒ ปสาทรูป มี ๕ รูป คือ

๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ ปสาทตา

๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ ปสาทหู

๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ ปสาทจมูก

๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ ปสาทลิ้น

๕. กายปสาทรูป ได้แก่ ปสาทกาย

ประเภทที่ ๓ วิสยรูป หรือโคจรรูป มี ๔ รูป คือนิปผันนรูป

๑. วัณณะรูป หรือ รูปสี (รูปารมณ์)

๒. สัททรูป หรือ รูปเสียง (สัททารมณ์)

๓. คันธรูป หรือ รูปกลิ่น (คันธารมณ์)

๔. รสะรูป หรือ รูปรส (รสารมณ์)

ประเภทที่ ๔ ภาวรูป มี ๒ รูป คือ

๑. อิตถีภาวรูป รูปที่แสดงถึงความเป็นหญิง

๒. ปุริสภาวรูป รูปที่แสดงถึงความเป็นชาย

ประเภทที่ ๕ หทยรูป มี ๑ รูป คือ หทยรูป คือ รูปที่เป็นที่ตั้ง อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก

ประเภทที่ ๖ ชีวิตรูป มี ๑ รูป คือชีวิตรูป คือ รูปที่รักษากลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม

ประเภทที่ ๗ อาหารรูป มี ๑ รูป คืออาหารรูป คือ โอชาที่มีอยู่ในอาหาร

ประเภทที่ ๘ ปริจเฉทรูป มี ๑ รูป คือปริจเฉทรูป ได้แก่ ช่องว่างระหว่างรูปต่อรูป

ประเภทที่ ๙ วิญญัตติรูป มี ๒ รูป คือ

๑. กายวิญญัตติรูป ได้แก่ การไหวกาย

๒. วจีวิญญัตติรูป ได้แก่ การกล่าววาจา

ประเภทที่ ๑๐ วิการรูป มี ๓ รูป คือ

๑. ลหุตารูป ได้แก่ รูปเบา อนิปผันนรูป

๒. มุทุตารูป ได้แก่ รูปอ่อน

๓. กัมมัญญตารูป ได้แก่ รูปควร

ประเภทที่ ๑๑ ลักขณรูป มี ๔ รูป คือ

๑. อุปจยรูป ได้แก่ รูปที่เกิดขึ้นขณะแรก

๒. สันตติรูป ได้แก่ รูปที่เกิดสืบต่อเนื่อง

๓. ชรตารูป ได้แก่ รูปใกล้ดับ

๔. อนิจจตารูป ได้แก่ รูปที่แตกดับ

นอกจากนี้ ยังแบ่งรูปเป็นประเภทใหญ่อีกนัยหนึ่ง คือ รูปประเภทที่ ๑ ประเภทเดียว ซึ่งมีมหาภูตรูป ๔ รูป ได้ชื่อว่าเป็นมหาภูตรูป (ตรงตามชื่อเดิม) ส่วนที่เหลืออีก ๑๐ ประเภท คือ ตั้งแต่ประเภทที่ ๒ ถึง ๑๑ รวมจำนวน ๒๔ รูป ได้ชื่อว่าเป็น อุปาทายรูป

มหาภูตรูป ๔

๑. มหาภูตรูป มี ๔ รูป ๒. ปสาทรูป มี ๕ รูป ๓. โคจรรูป มี ๔ รูป ๔. ภาวรูปมี ๒ รูป ๕. หทยรูปมี ๑ รูปนิปผันนรูป ๑๘ ๖. ชีวิตรูป มี ๑ รูปอุปทายรูป ๒๔

๗. อาหารรูป มี ๑ รูป ๘. ปริจเฉทรูมี ๑ รูป ๙. วิญญัตติรูปมี ๒ รูป

๑๐. วิการรูป มี ๓ รูปอนิปผันนรูป ๑๐ ๑๑. ลักขณรูป มี ๔ รูป

ก. ที่ได้ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะรูปธรรมทั้ง ๔ รูปนี้ เป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยแก่รูปอื่น ๆ ทั้งหลาย รูปอื่น ๆ ทั้งหมดถ้าไม่มีมหาภูตรูป รองรับก็เกิดขึ้นไม่ได้ มหาภูตรูปมีอยู่ทั่วไปในโลกธาตุทั้งปวง ในวิสุทธิมัคคแสดงว่า ที่ได้ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะ

๑. มหนฺตปาตุภาวโส เป็นธาตุที่ปรากฏอยู่ เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยแห่งรูปทั้งหลาย

๒. มหาภูตสามญฺญโต มีลักษณะที่หลอกลวง เกิดดับดุจปีศาจ

๓. มหาปริหารโต เป็นสิ่งที่ต้องบริหารมากเลี้ยงดูมาก เพราะย่อยยับ อยู่เสมอ

๔. มหาวิการโต มีอาการเปลี่ยนแปลงมาก เคลื่อนไหวมาก

๕. มหตฺต ภูตตฺตา เป็นของใหญ่และมีจริง ต้องพิจารณามาก

ข. ที่ได้ชื่อว่า อุปาทายรูป เพราะเป็นรูปธรรมที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปเป็นแดน เกิด ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแล้ว อุปทายรูปก็ไม่สามารถที่จะเกิดตามลำพังได้ เมื่อไม่มีที่ อาศัยเกิด ก็เกิดไม่ได้

ค. นิปผันนรูป ๑๘ รูป มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ๕ ชื่อ คือ

๑. นิปผันนรูป คือ รูปที่มีสภาวะของตนเอง

๒. สภาวรูป คือ รูปที่มีสภาพของตน ปรากฏได้แน่นอน

๓. สลักขณรูป คือ รูปที่มีไตรลักษณ์โดยสภาพของตนเอง

๔. รูปรูป คือ เป็นรูปที่ผันแปรแตกดับด้วยความร้อนและความเย็น

๕. สัมมสนรูป คือ เป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณาไตรลักษณ์ เพราะเห็นได้ง่าย

ง. อนิปผันนรูป ๑๐ รูป มีชื่อเรียก ๕ ชื่อ คือ

๑. อนิปผันนรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาวะของตนเอง ต้องอาศัยนิปผันน รูป จึงจะมีรูปของตนเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีนิปผันนรูปแล้ว อนิ ผันนรูปก็จะมีขึ้นมาไม่ได้

๒. อสภาวรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาพของตนโดยเฉพาะ

๓. อสลักขณรูป คือ รูปที่ไม่มีไตรลักษณ์โดยสภาพของตนเอง

๔. อรูปรูป คือรูปที่ไม่ได้แตกดับเพราะความร้อนและความเย็น

๕. อสัมมสนรูป เป็นรูปที่ไม่ควรใช้ในการพิจารณาไตรลักษณ์ เพราะเห็นได้ยาก

ลักขณาทิจตุกะของรูปแต่ละรูป

รูปธรรม ๑๑ ประเภทเล็ก รวมจำนวนรูปทั้งหมด ๒๘ รูปนั้น แต่ละรูปมี วิเสสลักษณะ คือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

ประเภทที่ ๑ มหาภูตรูป

มหาภูตรูปมี ๔ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย เฉพาะมหาภูตรูป ๔ นี้ นิยม เรียกกันว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

๑. ปฐวี

คำว่า “ปฐวีธาตุ” หรือ “ปถวีรูป” เป็นรูปปรมัตถที่มีลักษณะแข็งหรืออ่อน ซึ่งมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

กกฺขฬ ลกฺขณา มีความแข็ง เป็นลักษณะ

ปติฏฺฐาน รสา มีการทรงอยู่ เป็นกิจ

สมฺปฏิจฺฉน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการรับไว้ เป็นผล

อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

ที่ว่า ปฐวีธาตุ มีความแข็งเป็นลักษณะนั้น เพราะว่าถ้านำไปเปรียบกับธาตุ อื่นแล้ว ธาตุดินนี้มีสภาพแข็งกว่าธาตุอื่น ในลักขณาทิจตุกะ จึงแสดงว่า ปฐวีมี ความแข็งเป็นลักษณะเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงความอ่อนด้วย แท้จริงความอ่อนก็คือ ความแข็งมีน้อยนั่นเอง นอกจากปฐวีธาตุแล้วรูปอื่น ๆ ไม่สามารถทำให้ความแข็ง หรือความอ่อนปรากฏขึ้นแก่การสัมผัสถูกต้องได้ วัตถุใดมีปฐวีมากก็แข็งมาก วัตถุ ใดมีปฐวีธาตุน้อยก็แข็งน้อย จึงรู้สึกว่าอ่อน

ปฐวีธาตุ ธาตุดิน แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ลกฺขณปฐวี หรือ ปรมตฺถปฐวี คือ ปฐวีธาตุที่เป็นปรมัตถ มีคำอธิบายว่า ปฐวีธาตุเป็นธาตุปรมัตถชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแข็งหรืออ่อน เรียกว่าธาตุดิน และ ธาตุดินในที่นี้หมายถึง ธาตุดินที่เป็นปรมัตถ คือ มีลักษณะแข็งหรืออ่อน ไม่ใช่ดิน ที่เรามองเห็นอยู่นี้ ดินที่เรามองเห็นกันอยู่นี้เป็นดินโดยสมมติไม่ใช่ดินโดยปรมัตถ ดินโดยปรมัตถที่เรียกกันว่าปฐวีธาตุนั้น จะต้องหมายถึงลักษณะที่ปรากฏทางกาย ปสาท เมื่อมีการกระทบเกิดขึ้น ความแข็งหรืออ่อนนั่นแหละ เรียกว่า ปฐวีธาตุ เราได้กระทบกับปฐวีธาตุ

ปฐวีธาตุ นี้มองเห็นไม่ได้แต่กระทบได้ การที่เรามองเห็นนั้นเป็นการเห็นธาตุ ต่าง ๆ รวมกันเป็นปรมาณู และหลาย ๆ ปรมาณูรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นชิ้น และปรมาณูที่รวมกันนั้น ๆ ก็ทึบแสง คือ แสงผ่านทะลุไป ไม่ได้จึงปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ เรียกสีต่าง ๆ ที่เห็นนั้นว่า “รูปารมณ์” ถ้าปรมาณู ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มนั้น ๆ แสงผ่านทะลุได้ ก็จะไม่ปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ เราก็จะ ไม่สามารถมองเห็นได้

เพราะฉะนั้นปฐวีธาตุหรือปฐวีรูป จึงมองไม่เห็นแต่กระทบได้ และปฐวีธาตุ หรือปฐวีรูปนี้ รู้ได้ด้วยกายปสาทเท่านั้น รู้ด้วยปสาทอื่น ๆ ไม่ได้ การที่เรามองเห็น สิ่งต่าง ๆ แล้วรู้ว่า สิ่งนั้นอ่อน สิ่งนั้นแข็ง เป็นการรู้โดยการคิดนึก ไม่ใช่โดยความ รู้สึก การรู้โดยการคิดนึกนั้น เป็นการรู้โดยอาศัยอดีตเคยกระทำมาแล้ว เคยรู้มา แล้วว่าแข็งหรืออ่อน เท่ากับเอาความจำในอดีตมาตัดสินการเห็นในปัจจุบัน ที่จริง แล้วความแข็ง หรืออ่อนรู้ไม่ได้ด้วยการดู แต่รู้ได้ด้วยการสัมผัสทางกาย เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์

ดังนั้น ปฐวีธาตุนี้จึงมีลักษณะแข็ง ถ้าวัตถุสิ่งใดมีปฐวีธาตุมากเป็นประธาน แล้ว ก็จะปรากฏเป็นแข็งมาก เช่น เหล็ก หิน ไม้ ตะกั่ว ทอง เป็นต้น และถ้าวัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีปฐวีธาตุเป็นส่วนน้อย ความแข็งก็จะปรากฏน้อย เมื่อสัมผัสก็จะรู้สึก ว่าอ่อน เพราะความแข็งปรากฏน้อยจึงรู้สึกว่าอ่อน

ฉะนั้นธรรมชาติที่กระทบด้วยกายปสาทแล้ว มีความรู้สึกว่า “แข็งหรืออ่อน” จัดเป็นปฐวีธาตุทั้งสิ้น เพราะนอกจากปฐวีธาตุแล้ว รูปอื่น ๆ ก็ไม่สามารถทำให้เกิด ความรู้สึกแข็งหรืออ่อนได้

อนึ่งปฐวีธาตุนี้ เป็นที่ตั้งเป็นที่อาศัยของรูปอื่น ๆ เหมือนแผ่นดินกับสิ่งอื่น ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ถ้าไม่มีแผ่นดินเสียแล้ว สิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ปฐวีธาตุก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีปฐวีธาตุเสียแล้ว รูปร่างสัณฐาน สีสรรวรรณะ เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ปรากฏขึ้นไม่ได้

ปฐวีธาตุ อาศัยธาตุที่เหลืออีก ๓ เป็นปัจจัย คือ

๑. มีอาโปธาตุเกาะกุม

๒. มีเตโชธาตุตามรักษา

๓. มีวาโยธาตุกระพือพัด

ข. สสฺมภารปฐวี คือ สัมภาระของดิน หรือสุตฺตันตปฐวี หรือสัมภาระต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่รวมเรียกว่าดิน กล่าวตามนัยแห่งพระสูตรแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

(๑) อชฺฌตฺติกปฐวี ธาตุดินภายใน หมายถึงธาตุดินอันเป็นส่วนประกอบ ของร่างกายของเราและสัตว์ทั้งหลาย โดยเอาอาการ ๓๒ มาสงเคราะห์เป็นธาตุดิน ๒๐ ได้แก่

เกสา - ผม มํสํ - เนื้อ หทยํ - หัวใจ อนฺตํ - ไส้ใหญ่

โลมา - ขน นหารู - เอ็น ยกนํ - ตับ อนฺตคุณํ - ไส้น้อย

นขา - เล็บ อฏฺฐิ - กระดูก กิโลมกํ -พังผืด อุทฺริยํ-อาหารใหม่

ทนฺตา - ฟัน อฏฺฐิมิญฺชํ - เยื่อในกระดูก ปิหกํ- ไต กรีสํ - อาหารเก่า

ตโจ - หนัง วกฺกํ - ม้าม ปปฺผาสํ - ปอด มตฺถลุงคํ-มันสมอง

(๒) พาหิรปฐวี ธาตุดินภายนอก หมายถึง ธาตุดินอันเป็นส่วนประกอบที่มี อยู่ในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ มีอยู่มากมายเหลือที่จะคณานับได้ ยกตัวอย่าง เช่น ก้อนดิน พื้นดิน แผ่นดิน ก้อนหิน กรวด ทราย โลหะต่าง ๆ แก้วแหวน เงินทอง ตะกั่ว เป็นต้น รวมไปถึงดินที่เป็นอารมณ์ของกสิณ ก็เรียกว่า ปฐวีกสิณ หรืออารมณปฐวี

ค. กสิณปฐวี หรือ อารมฺมณปฐวี คือ ดินที่เป็นนิมิตทั้งปวง ได้แก่ ดินของ บริกรรมนิมิต ดินของอุคคหนิมิต ดินของปฏิภาคนิมิต

ง. ปกติปฐวี หรือ สมฺมติปฐวี คือ ดินตามปกติที่สมมติเรียกกันว่าดิน ได้แก่ พื้นแผ่นดินตามธรรมดา ที่ทำเรือกสวนไร่นา เป็นต้น

๒. อาโป

คำว่า อาโปธาตุ หรืออาโปรูป เป็นรูปปรมัตถที่รู้ได้ด้วยใจ ซึ่งมีลักษณะไหล หรือ เกาะกุม ซึ่งมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ปคฺฆรณ ลกฺขณา มีการไหล เป็นลักษณะ

พฺยูหน รสา ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วยมีความเจริญ เป็นกิจ

สงฺคห ปจฺจุปฏฺฐานา มีความเกาะกุมรูปที่เกิดร่วมกัน เป็นผล ปรากฏ

อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

ธรรมชาติที่ทรงภาวะการเกาะกุมก็ดี การไหลก็ดี ที่มีอยู่ในร่างกายนั้น เรียก ว่า อาโปธาตุ

อาโปธาตุนี้ มีจำนวนพอประมาณในวัตถุใด ก็ทำหน้าที่เกาะกุมอย่างเหนียว แน่น วัตถุนั้นจึงแข็ง ถ้าวัตถุใดมีอาโปธาตุมากก็เกาะกุมไม่เหนียวแน่น จึงทำให้ วัตถุนั้นอ่อนลงและเหลวมากขึ้น หากว่าในวัตถุใดมีอาโปธาตุเป็นจำนวนมากแล้ว การเกาะกุมก็น้อยลง ทำให้วัตถุนั้นเหลวมากจนถึงกับไหลไปได้

เมื่ออาโปธาตุถูกความร้อน ปัคฆรณลักษณะ หรือทรวภาวะ ปรากฏ คือ ทำให้ไหล แต่ถ้าอาโปธาตุถูกความเย็น อาพันธนลักษณะ ปรากฏ คือทำให้เกาะกุม เช่น เหล็กหรือขี้ผึ้งถูกความร้อนก็เหลวจนไหลได้ เมื่อเย็นแล้วกลับแข็งตัวตามเดิม หรือน้ำแข็ง ถ้าถูกความร้อนก็ละลายและไหล เมื่อให้ถูกเย็นจัด ก็จะจับกันเป็นก้อน น้ำแข็งอีก

อาโปธาตุ ธาตุน้ำ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ลกฺขณอาโป หรือ ปรมตฺถอาโป ได้แก่ ลักษณะไหลและเกาะกุม อันมี อยู่ทั้งในสิ่งที่มีวิญญาณและในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ ซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือ

(๑) ปคฺฆรณ ลกฺขณ หรือ ทรวภาว มีลักษณะ หรือสภาพที่ไหล

(๒) อาพนฺธน ลกฺขณ มีลักษณะเกาะกุม

ปรมัตถอาโป เป็นอาโปธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า ธาตุน้ำ และธาตุน้ำในที่นี้ หมายถึงธาตุน้ำที่เป็นปรมัตถ ซึ่งมีลักษณะไหล หรือเกาะกุม ไม่ใช่น้ำที่มองเห็นหรือ ใช้ดื่มกันอยู่นี้ น้ำที่ใช้ดื่มใช้สอยกันอยู่นี้ เป็นน้ำโดยสมมติ เป็นสสัมภารอาโป หรือสมมติอาโป น้ำโดยปรมัตถที่เรียกว่าธาตุน้ำนั้น จะต้องหมายถึงลักษณะที่ ปรากฏรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้ด้วยตา หรือสัมผัสได้ด้วยกายปสาท เพียงรู้ ได้ด้วยใจเท่านั้น

ธรรมชาติที่รักษาสหชาติรูปได้อย่างมั่นคง ไม่ให้กระจัดกระจายไป ธรรมชาติ นั้นชื่อว่า อาโป หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวว่า

ธรรมชาติที่แผ่ซึมซาบทั่วไปในรูปที่เกิดร่วมกับตน แล้วตั้งอยู่กับรูปเหล่านั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาโป

อาโปธาตุนี้ มองเห็นไม่ได้ สัมผัสด้วยกายไม่ได้ ส่วนน้ำที่เรามองเห็นกัน ใช้กันอยู่นี้ เป็นการเห็นธาตุต่าง ๆ รวมกันอยู่ในลักษณะอ่อนหรือเหลว เพราะมี ปฐวีธาตุน้อย มีอาโปธาตุมาก ไม่ได้เห็นอาโปธาตุโดยส่วนเดียว ความปรากฏเป็น ลักษณะอ่อนเหลวของน้ำที่เราใช้ดื่มกันอยู่นี้ เนื่องด้วยอาโปธาตุนั้น

มีปฐวีธาตุ เป็นที่ตั้ง

มีเตโชธาตุ ตามรักษา

มีวาโยธาตุ กระพือพัด

เมื่อใดที่อาโปธาตุมาก มีปฐวีธาตุน้อย ปรมาณูต่าง ๆ ที่รวมกันอยู่นี้จะไหล ไปได้ ที่เราพูดกันว่าน้ำไหล ๆ นั้น แท้จริงเป็นการไหลของปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และ วาโยธาตุ ส่วนอาโปธาตุนั้นทำหน้าที่เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ เพราะปฐวีธาตุปรากฏน้อย จึงปรากฏอ่อนเหลว และไหลไปได้ ธรรมชาติที่เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ แล้วไหลไปได้ นั่นเอง ที่เป็นอาโปธาตุ

อาโปธาตุนั้นมีอยู่ทั่วไปในวัตถุต่าง ๆ ที่แข็งและเหลวทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ข. สสมฺภารอาโป ได้แก่ สสัมภาระธาตุต่าง ๆ ที่ประชุมรวมกันอยู่สมมติ เรียกว่า “น้ำ” หรือธาตุน้ำ ตามนัยแห่งพระสูตร แบ่งออกเป็น ๒ อย่างดังนี้

(๑) อชฺฌตฺติกอาโป ธาตุน้ำภายใน ได้แก่ ธาตุน้ำที่เป็นส่วนประกอบภายใน ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย โดยยกเอาอาการ ๓๒ ที่มีลักษณะเหลว สงเคราะห์เป็น ธาตุน้ำ มี ๑๒ คือ

ปิตฺตํ - น้ำดี เสมฺหํ - น้ำเสมหะ

ปุพฺโพ - น้ำหนอง โลหิตํ - น้ำเลือด

เสโท - น้ำเหงื่อ เมโท - น้ำมันข้น

อสฺสุ - น้ำตา วสา - น้ำมันเหลว

เขโฬ - น้ำลาย สิงฺฆาณิกา - น้ำมูก

ลสิกา - ไขข้อ มุตฺตํ - น้ำมูตร

(๒) พาหิรอาโป ธาตุน้ำภายนอก หมายถึง ธาตุน้ำอันเป็นส่วนประกอบที่มี อยู่ในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ เช่นน้ำจากผลไม้ น้ำจากเปลือกไม้ น้ำจากลำต้นไม้ น้ำจาก ดอกไม้ เป็นต้น

ค. กสิณอาโป หรือ อารมฺมณอาโป ได้แก่น้ำที่นำมาใช้เป็นอารมณ์ในการ เพ่งกสิณ

ง. ปกติอาโป หรือ สมฺมติอาโป ได้แก่ น้ำที่สมมติเรียกกันว่า “น้ำ” ได้แก่ น้ำที่ใช้ดื่ม ใช้อาบ น้ำในคลอง น้ำในแม่น้ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า สสัมภารอาโป สำหรับปรมัตถอาโปธาตุนั้นเป็นรูปธาตุ ทำหน้าที่สมาน เกาะกุมรูปทั้งหลายอันเกิดร่วมกับตน ทำให้รูปต่าง ๆ รวมกันอยู่ได้ ไม่ให้กระจัดกระจายไป

๓. เตโช

คำว่า เตโชธาตุ หรือ เตโชรูป เป็นรูปปรมัตถ ซึ่งมีลักษณะร้อนหรือเย็น มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อุณฺหตฺต ลกฺขณา มีความอบอุ่น เป็นลักษณะ

ปริปาจน รสา ทำให้รูปเกิดร่วม สุกงอม เป็นกิจ

มทฺทวานุปฺปาทน ปจฺจุปฏฺฐานา ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วย ให้อ่อนนิ่ม เป็นผลปรากฏ

อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

ธรรมชาติที่ทรงภาวะการสุกงอมก็ดีความอบอุ่นก็ดีที่มีในกายนั้นเรียก เตโชธาตุ

ที่ว่า เตโชธาตุ มีความร้อน (อุณฺห) เป็นลักษณะนั้น หมายถึงความเย็น(สีต) ด้วย เพราะที่ว่าเย็นก็คือความร้อนมีน้อยนั่นเอง เช่น ใช้คำว่า อุณฺหเตโช หมายถึง ความร้อนและใช้คำว่า สีหเตโช หมายถึงความเย็น ซึ่งมีคำว่า เตโช อยู่ด้วยทั้งคู่

เตโชธาตุ ธาตุไฟ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ลกฺขณเตโช หรือ ปรมตฺถเตโช ได้แก่ ลักษณะของธาตุไฟที่มีสภาวะยืน ให้พิสูจน์ด้วยการสัมผัสถูกต้องได้ มี ๒ ลักษณะ คือ

(๑) อุณหเตโช มีลักษณะร้อน

(๒) สีหเตโช มีลักษณะเย็น คือร้อนน้อย

ปรมัตถเตโช เป็นเตโชธาตุชนิดหนึ่งเรียกว่าธาตุไฟและธาตุไฟในที่นี้ หมายถึง ธาตุไฟที่เป็นปรมัตถ ซึ่งมีลักษณะร้อนหรือเย็น ไม่ใช่ไฟที่มองเห็น หรือใช้หุงต้มกัน อยู่ขณะนี้ และไฟที่เรามองเห็นกันอยู่นี้ เป็นไฟโดยสมมติ ไม่ใช่ไฟโดยปรมัตถ ธาตุไฟโดยปรมัตถนั้น ต้องหมายถึงลักษณะที่ปรากฏทางกายปสาท เมื่อมีการ กระทบกันเกิดขึ้น ความร้อนหรือเย็นนั่นแหละ คือธาตุไฟ

เตโชธาตุนี้มองเห็นไม่ได้แต่กระทบได้ การที่เรามองเห็นได้นั้น เป็นการเห็น ธาตุต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นปรมาณู แล้วปรากฏเป็นความวิโรจน์ด้วยอำนาจของ เตโชธาตุ จึงปรากฏเห็นเป็นเปลวไฟลุกขึ้นมา เปลวไฟที่เห็นนั้นไม่ใช่ธาตุไฟ แต่ เป็นรูปารมณ์หรือวรรณะรูป คือรูปที่เห็นเป็นสีนั่นเอง

ดังนั้นความปรากฏของเตโชธาตุ จึงหมายถึงไออุ่น หรือไอเย็นที่สามารถรู้ได้ ด้วยปสาทกาย และเตโชธาตุนี้มีหน้าที่เผา ทำให้วัตถุต่าง ๆ สุก และทำให้ละเอียด นุ่มนวล อาหารต่าง ๆ จะสุกได้นั้นต้องอาศัยความร้อน หรือไออุ่นบางอย่างก็อาศัย ไอเย็น คือ ธรรมชาติใดที่ทำให้สุก ธรรมชาตินั้นเรียกว่า เตโช

การเกิดขึ้นของเตโชธาตุ อาศัยธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นปัจจัย คือ

๑. มีปฐวีธาตุ เป็นที่ตั้ง

๒. มีอาโปธาตุ เกาะกุม

๓. มีวาโยธาตุ กระพือพัด

ข. สสมฺภารเตโช คือ สัมภาระของไฟ แบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ

(๑) อชฺฌตฺติกเตโช ธาตุไฟภายใน หมายถึงธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบ ที่มีอยู่ในร่างกายที่มีวิญญาณ มีอยู่ ๔ คือ

อุสมาเตโช ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นพอสบาย เป็นอุณหเตโช มีเป็น ประจำ และมีอยู่ทั่วร่างกาย

ปาจกเตโช ไฟที่ย่อยอาหาร (ที่เราเรียกว่า ไฟธาตุ) เป็นอุณหเตโช มีเป็นประจำ และมีอยู่ที่ลิ้นจนถึงทวารหนัก

ชิรณเตโช ไฟที่บ่มให้ร่างกายทรุดโทรมเหี่ยวแห้ง เป็นทั้ง อุณหเตโช และสีตเตโช มีเป็นประจำ และมีอยู่ทั่วร่างกาย

สนฺตาปนเตโช ไฟที่ทำให้ร้อนเป็นไข้ได้ป่วย เป็นอุณหเตโช มีจรมา เป็นครั้งคราว (อาคันตุกะ)

(๒) พาหิรเตโช ธาตุไฟภายนอก หมายถึงธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบที่มี อยู่ในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ มีอยู่มากมาย เช่น ไฟฟืน ไฟเผาหญ้า ไฟแก๊ส ฯลฯ เป็นต้น

ค. กสิณเตโช หรือ อารมฺมณเตโช คือ ไฟที่เป็นนิมิตทั้งปวง มีในบริกรรม นิมิต อุคคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิต

ง. ปกติเตโช หรือ สมฺมติเตโช คือไฟตามธรรมดาที่ใช้ในการหุงต้มเป็นต้น

อนึ่ง เตโชนี้แม้จะเป็นรูปธาตุที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของธาตุอื่น ๆ ก็ตาม แต่ว่ามีประสิทธิภาพเหนือธาตุอื่น ๆ ตรงที่ว่าสัตว์ทั้งหลายอายุจะยืนหรือไม่ ก็ เพราะเตโชธาตุนี่แหละ เช่น อุสมาเตโชให้ความอบอุ่นไม่พอ ปาจกเตโชไม่พอย่อย อาหาร เพียงเท่านี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว

อัชฌัตติกเตโช คือเตโชธาตุภายใน อีกนัยหนึ่งแสดงว่ามี ๕ อย่างดังจะแสดง โดยย่อ ต่อไปนี้

เตโชธาตุ กิจ ลักษณะ ฐาน

๑. อุสมาเตโช อบอุ่น อุณหะ ทั่วกาย

๒. ปาจกเตโช ย่อยอาหาร อุณหะ จากลิ้นถึงทวารหนัก

๓. ชิรณเตโช บ่ม อุณหะและสีตะ ทั่วกาย

๔. สนฺตาปนเตโช ร้อน อุณหะ อาคันตุกะ

๕. ทาหนเตโช กระวนกระวาย อุณหะและสีตะ อาคันตุกะ

เป็นการแสดงเตโชธาตุที่ทำให้ร้อนเป็นไข้ได้ป่วยให้ละเอียดออกไปว่า เป็นไข้ ได้ป่วยชนิดที่ร้อนอย่างเดียวนั้นประเภทหนึ่ง และเป็นชนิดที่สะบัดร้อนสะบัดหนาว จนถึงกับกระวนกระวายอีกประเภทหนึ่งเท่านั้นเอง

เตโชธาตุทั้ง ๕ นี้ มีประจำอยู่ในร่างกายที่มีวิญญาณก็มี เป็นเตโชธาตุที่จะมา ก็มี เช่น อุสมาเตโช และปาจกเตโช เป็นธาตุไฟที่มีอยู่ประจำในร่างกายที่มีวิญญาณ ส่วนสันตาปนเตโช ทาหนเตโช ไม่มีอยู่ประจำ เป็นอาคันตุกะจรมา ที่ปรากฏว่า ร้อนจัดหรือกระวนกระวาย ก็เพราะอุสมาเตโช เกิดมีอาการผิดปกติด้วยอำนาจกรรม บ้าง จิตบ้าง อุตุบ้าง และอาหารบ้าง เป็นปัจจัยให้เกิดวิปริตผิดปกติไป เช่น คนที่เป็นไข้ มีอาการตัวร้อนกว่าคนที่ไม่เป็นไข้ บางคนเป็นไข้มีความร้อนสูงมาก ถึงกับเพ้อคลั่ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก อุสมาเตโช แปรสภาพเป็นสันตาปนเตโช นั่นเอง จึงมีอาการตัวร้อนจัด และสันตาปนเตโชแปรสภาพเป็นทาหนเตโช จึงมีอาการร้อน จัดจนเพ้อคลั่ง บางคนร้อนจัดจนร้องครวญคราง ร้องให้คนช่วย แต่ตัวผู้ร้องก็ไม่รู้ ปรอทวัดก็ไม่ขึ้น แต่มีอาการร้องว่าร้อนจนคลุ้มคลั่ง ทั้งนี้ก็เพราะร้อนด้วยอำนาจ กรรมนั่นเอง ส่วนความแก่ชราของคนและสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏนั้น ก็เพราะอุสมา เตโชที่มีอยู่ประจำในร่างกายคนและสัตว์นั่นเอง เปลี่ยนสภาพเป็นชิรณเตโช เผาให้ ปรากฏอาการทรุดโทรม แก่ชรา ผมหงอก ฟันหัก ตาฟาง เนื้อหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น

๔. วาโย

คำว่าวาโยธาตุ หรือวาโยรูป เป็นรูปปรมัตถ ซึ่งมีลักษณะไหวหรือเคร่งตึง มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

วิตฺถมฺภน ลกฺขณา มีความเคร่งตึง เป็นลักษณะ

สมุทีรณ รสา มีการไหว เป็นกิจ

อภินิหาร ปจฺจุปฏฺฐานา มีการเคลื่อนย้าย เป็นผล

อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

ธรรมชาติที่ทรงภาวะการเคร่งตึงก็ดี การไหวก็ดีที่มีอยู่ในกายนั้น เรียกว่า วาโยธาตุ

วาโยธาตุ ธาตุลม แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ลกฺขณาวาโย หรือ ปรมตฺถวาโย ได้แก่ลักษณะของธาตุลมที่มีสภาวะให้ พิสูจน์รู้ได้ ๒ ลักษณะ คือ

(๑) วิตฺถมฺภน ลกฺขณ มีลักษณะเคร่งตึง ซึ่งมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

(๒) สมุทีรณ ลกฺขณ มีลักษณะไหวโคลง ซึ่งมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

วาโยธาตุตามนัยแห่งปรมัตถนั้น หมายถึง ธรรมชาติที่มีลักษณะ “ไหวหรือ เคร่งตึง” ธาตุลมที่มีลักษณะไหว เรียกว่า “สมุทีรณวาโย” และธาตุลมที่มีลักษณะ เคร่งตึง เรียกว่า “วิตฺถมฺภนวาโย”

ธรรมชาติของวิตถัมภนวาโยนี้ ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้น ตั้งมั่นไม่ คลอนแคลนเคลื่อนไหวได้ ในร่างกายของคนเรา ถ้ามีวิตถัมภนวาโยปรากฏแล้ว บุคคลผู้นั้นจะรู้สึกตึง ปวดเมื่อยไปทั่วร่างกาย หรือเมื่อเวลาที่เราเกร็งแขน ขา หรือ เพ่งตาอยู่นานๆ โดยไม่กระพริบตา ก็จะปรากฏเป็นอาการเคร่งตึง นั่นคือ วิตถัมภน วาโยธาตุปรากฏ

ในร่างกายของคนและสัตว์ ถ้ามีวิตถัมภนวาโยมากมีสมุทีรณวาโยน้อยร่างกาย หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเคร่งตึง ถ้ามีสมุทีรณวาโยมากวิตถัมภนวาโยน้อย ร่างกายหรือสัดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเคลื่อนไหวหรือไหวไปได้

ข. สสมฺภารวาโย คือ สัมภาระของลม หรือสสัมภาระต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่ รวมเรียกว่า ลม แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

(๑) อชฺฌตฺติกวาโย ธาตุลมภายใน หมายถึงธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบของ ร่างกายที่มีวิญญาณ ซึ่งมีอยู่ ๖ อย่างคือ

อุทฺธงฺคมวาโย ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน เช่น การเรอ การหาว การไอ การจาม เป็นต้น

อโธคมวาโย ลมที่พัดลงสู่เบื้องต่ำ เช่น การผายลม การเบ่ง (ลมเบ่ง) เป็นต้น

กุจฺฉิสยวาโย หรือ กุจฺฉิฏฺฐวาโย ลมที่อยู่ในช่องท้อง ทำให้ปวดท้อง เสียดท้อง เป็นต้น

โกฏฺฐาสยวาโย ลมที่อยู่ในลำไส้ เช่น ท้องลั่น ท้องร้อง เป็นต้น

องฺคมงฺคานุสาริวาโย ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้ไหวร่างกายได้

อสฺสาสปสฺสาสวาโย ลมหายใจเข้าออก

(๒) พาหิรวาโย ธาตุลมภายนอก หมายถึง ธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบ ที่มีอยู่ในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ เช่น ลมพายุ ลมเหนือ ลมหนาว เป็นต้น

ความปรากฏของธาตุลมซึ่งเรียกว่า วาโยธาตุ นั้น อาศัยธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ ให้ปรากฏ และเป็นไปดังนี้

๑. มีปฐวีธาตุเป็นที่ตั้ง

๒. มีอาโปธาตุเกาะกุม

๓. มีเตโชธาตุ ทำให้อุ่นหรือเย็น

ค. กสิณวาโย หรือ อารมฺมณวาโย คือ ลมที่เป็นกสิณซึ่งเป็นอารมณ์ของ จิตแห่งพระโยคาวจร ผู้ทำฌานด้วยการที่เอาวาโยธาตุที่ทำให้ใบไม้ไหว ที่ทำให้ เส้นผมไหว ที่ทำให้ก้อนเมฆลอยไป เป็นนิมิต ตั้งแต่บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต จนถึงปฏิภาคนิมิต

ง. ปกติวาโย หรือ สมฺมติวาโย คือ ลมธรรมดาที่พัดผ่านไปมานี่แหละ

อนึ่ง วาโยธาตุนี้ เป็นรูปธาตุที่มีความสำคัญมากแก่สัตว์ที่มีวิญญาณ เพราะ ถ้าไม่มีลมหายใจก็ตาย และธาตุลมนี่แหละที่ทำให้ไหววาจาและไหวกายได้ ไหววาจา ไหวกายดีมีประโยชน์ ก็เป็นบุญเป็นกุสล ให้ผลเป็นสุข ไหววาจาไหวกายชั่ว มีโทษ ก็เป็นบาปเป็นอกุสลให้ผลเป็นทุกข์

ธาตุทั้ง ๔ หรือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย นี้เป็น สหชาตธรรม เป็นธรรมที่เกิดพร้อมกันเกิดร่วมกัน กล่าวคือไม่ว่าจะปรากฏ ณ ที่ ใด จะต้องปรากฏ ณ ที่นั้นครบทั้งคณะ คือทั้ง ๔ ธาตุเสมอ เป็นนิจและแน่นอน ต่างกันแต่เพียงว่า อาจจะมีธาตุใดธาตุหนึ่งยิ่งและหย่อนกว่ากันเท่านั้น จะขาดธาตุ ใด ธาตุหนึ่งใน ๔ ธาตุนี้ไปแม้แต่เพียงธาตุเดียว เป็นไม่มีเลย

ธาตุดินที่แข็ง ย่อมจะอยู่กับน้ำที่เกาะกุมอยู่กับไฟที่เย็นและอยู่กับลมที่เคร่งตึง

ส่วนธาตุดินที่อ่อน ย่อมจะอยู่กับน้ำที่ไหล อยู่กับไฟที่ร้อนและอยู่กับลมที่ไหว

ประเภทที่ ๒ ปสาทรูป

ปสาทรูป คือ รูปที่เป็นความใสอันเกิดจากกรรม มีความสามารถในการรับ อารมณ์ได้ เรียกว่า ปสาทรูป ซึ่งมีอยู่ ๕ รูป คือ

๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ ปสาทตา

๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ ปสาทหู

๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ ปสาทจมูก

๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ ปสาทลิ้น

๕. กายปสาทรูป ได้แก่ ปสาทกาย

ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ มีสภาพเป็นความใส เกิดจากกรรมโดยสมุฏฐานเดียว สามารถรับอารมณ์ได้ และยังผลให้สำเร็จกิจเป็นกุสลหรืออกุสลได้ ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

๕. จักขุปสาทรูป

จักขุปสาท คือ ดวงตาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เรียกว่า มังสจักขุ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่

๑. สสมฺภารจกฺขุ คือ ส่วนต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่ทั้งหมดเรียกว่า “ดวงตา” ซึ่งมีทั้งตาขาวและตาดำ มีก้อนเนื้อเป็นฐานรองรับปสาทจักขุไว้

๒. ปสาทจักขุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จักขุปสาท” คือ ความใสของมหา ภูตรูปอันเกิดจากกรรม ที่ตั้งอยู่บนกลางตาดำ

ดวงตาทั้งหมดไม่ชื่อว่า จักขุปสาท ที่เรียกว่าจักขุปสาทนั้นก็คือ ธรรมชาติ ที่เป็นรูปชนิดหนึ่ง เกิดจากกรรม มีความใสดุจเงากระจก เป็นเครื่องรับรูปารมณ์ ตั้งอยู่ระหว่างตาดำมีหลักฐานแสดงไว้ชัดว่า เป็นเยื่อบางๆ ซับซ้อนกันอยู่ถึง ๗ ชั้น ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มด้วยน้ำมันงาชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะของเหา มี หน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

(๑) เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒

(๒) เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตในปัญจ ทวารวิถี

จักขุปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

รูปาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบ รูปารมณ์ เป็นลักษณะ

รูเปสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการชักดึงมาซึ่งรูปารมณ์ เป็นกิจ

จกฺขุวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการรองรับซึ่งจักขุวิญญาณ เป็นผล

ทฏฺฐกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจาก กรรม(รูปตัณหา) มีความใคร่ที่จะเห็นรูปารมณ์ เป็นเหตุใกล้

อนึ่ง คำว่า จักขุ ยังจำแนกเป็น ๒ ประการคือ ปัญญาจักขุ และ มังสจักขุ

ปัญญาจักขุ เป็นการรู้ด้วยปัญญา เป็นการรู้ทางใจ ไม่ใช่เห็นด้วยนัยน์ตา มีอยู่ ๕ ชนิด คือ

(๑) พุทฺธจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่

ญาณที่รู้ในอัชฌาสัยของสัตว์โลก เรียกว่า อาสยานุสยญาณ

ญาณที่สามารถรู้อินทรียของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่ง หรือหย่อนเพียงใด เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตติญาณ ญาณดังกล่าวแล้วองค์ธรรมได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตต จิต ๔

(๒) สมนฺตจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สัพพัญญุตญาณ ญาณที่สามารถรอบรู้สิ้นปวงสังขตธรรมและอสังขตธรรม องค์ ธรรมได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตดวงที่ ๑

(๓) ญาณจักขุ คือ อรหัตตมัคคญาณ ญาณของพระอรหันต์ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตมัคคจิต

(๔) ธมฺมจกฺขุ คือ ญาณของพระอริยทั้ง ๓ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓

(๕) ทิพฺพจกฺขุ คือ ญาณที่รู้ด้วยตาทิพย์ คือ อภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อภิญญาจิต ๒

(๖) ส่วน มังสจักขุ นั้นคือ การเห็นด้วยนัยน์ตาเนื้อ ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา ได้แก่ จักขุของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาท

ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ รวมเป็น ๖ จึงเรียกกันสั้น ๆ ว่า จักขุ ๖ เมื่อเอ่ยว่า จักขุ ๖ ก็หมายถึง ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ นี่แหละ

๖. โสตปสาทรูป

โสตปสาทรูป หมายถึงประสาทหู ที่อยู่ในช่องหู มีสัณฐานเป็นวง ๆ คล้าย วงแหวน และมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงปรากฏอยู่โดยรอบ เป็นรูปธรรมที่มีความ สามารถในการรับสัททารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ และเป็นทวาร อันเป็นทางให้เกิดโสตทวารวิถีจิต

โสตะ คือ หูของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มี ๒ อย่าง คือ

๑. สสมฺภารโสต ได้แก่ หูทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสสัมภารธาตุ อันเป็นที่ ตั้งที่อาศัยเกิดของโสตปสาท

๒. ปสาทโสต ได้แก่ โสตปสาท ซึ่งตั้งอยู่กลางหู มีสัณฐานคล้ายวงแหวน มีขนละเอียดอ่อนล้อมอยู่โดยรอบ

ฉะนั้นหูทั้งหมดที่มองเห็นเป็นรูปหูนั้น ไม่ชื่อว่า โสตปสาท ที่ชื่อว่าโสตปสาท นั้นก็คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความสามารถรับเสียงต่าง ๆ ได้ ตั้งอยู่ภายในช่องหู มีสัณฐานเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงเส้นละเอียดเกิดขึ้นโดยรอบ โสตปสาทแผ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น มีหน้าที่สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิด ของโสตวิญญาณ ๒

ข. เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของโสตทวารวิถี

โสตปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

สทฺทาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูป ที่กระทบ สัททารมณ์ เป็นลักษณะ

สทฺเทสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาสัททารมณ์ เป็นกิจ

โสตวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของโสตวิญญาณ เป็นผล

โสตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (สัททตัณหา) เป็นเหตุใกล้

อนึ่งคำว่า โสต นี้ยังแบ่งเป็น ๓ ประการอันเรียกกันสั้น ๆ ว่า โสต ๓ คือ

(๑) ทิพฺพโสต ญาณที่รู้ด้วยหูทิพย์ คือ อภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อภิญญาจิต

(๒) ตณฺหาโสต กระแสของตัณหา หมายความว่า ตัณหานั้นเป็นกระแสร์ พาให้ไหลไปในอารมณ์ทั้ง ๖ และไหลไปสู่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

(๓) ปสาทโสต ได้แก่โสตปสาทรูป

๗. ฆานปสาทรูป

ฆานปสาทรูป หมายถึง ประสาทจมูก ที่อยู่ในช่องจมูก อันมีสัณฐานเหมือน กีบแพะ เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับคันธารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้ง แห่งฆานวิญญาณ และเป็นทวารอันเป็นทางให้เกิดฆานทวารวิถีจิต

ฆานปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

คนฺธาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูป(ที่เกิดจาก กรรม) ที่กระทบคันธารมณ์ เป็นลักษณะ

คนฺเธสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาคันธารมณ์เป็นกิจ

ฆานวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของฆานวิญญาณ เป็นผล

ฆายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (คันธตัณหา) เป็นเหตุใกล้

๘. ชิวหาปสาทรูป

ชิวหาปสาทรูป หมายถึง ประสาทลิ้น ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้นอันมีสัณฐาน เหมือนปลายกลีบดอกบัว เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถ ในการรับรสารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณ และเป็นทวารอันเป็น ทางให้เกิดชิวหาทวารวิถีจิต

ชิวหาปสาท คือ ประสาทลิ้นของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. สสมฺภารชิวหา ได้แก่ ลิ้น ซึ่งประกอบด้วยสสัมภารธาตุต่าง ๆ อัน เป็นที่เกิดของชิวหาปสาท คือ ลิ้นทั้งหมดที่เราเห็นนั่นเอง

๒. ปสาทชิวหา ได้แก่ ชิวหาปสาท ซึ่งมีสัณฐานคล้ายกลีบดอกบัว ตั้งอยู่ โดยรอบบริเวณปลายลิ้น

สำหรับชิวหาปสาทในที่นี้ มุ่งหมายเอาชิวหาปสาทที่เป็นสภาพของรูปปรมัตถ ที่เรียกว่าชิวหาปสาท ก็คือ ธรรมชาติที่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม มีความใส บริสุทธิ์ เป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ ตั้งอยู่โดยรอบบริเวณลิ้น มีสัณฐานคล้ายกลีบบัว มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต

ข. เป็นทวาร คือทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของชิวหาทวารจิตในปัญจทวารวิถี

ชิวหาปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

รสาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบ รสารมณ์ เป็นลักษณะ

รเสสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหารสารมณ์ เป็นกิจ

ชิวหาวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของชิวหาวิญญาณ เป็นผล

สายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (รสตัณหา) เป็นเหตุใกล้

ชิวหาเป็นรูปที่มีสภาพคล้ายกับเรียกรส ซึ่งเป็นเหตุให้อายุยืน รูปนั้นชื่อว่า ชิวหา ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของชิวหาปสาทนี้ ย่อมน้อมอยู่ในรสต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ พอใจของชิวหาวิญญาณให้มาสู่ตน รวมความแล้วก็คือ ชิวหาปสาทเป็นรูปที่เกิด จากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ นั่นเอง

๙. กายปสาทรูป

กายปสาทรูป หมายถึง ประสาทกาย มีสัณฐานคล้ายสำลีแผ่นบาง ๆ ชุบ น้ำมันจนชุ่ม ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ตั้งอยู่ทั่วไปในสรรพางค์กาย เว้นที่ปลายผม ปลายขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่กระดูก ที่หนังหนาด้าน ซึ่งประสาทตั้งอยู่ไม่ได้

กายปสาทรูป เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณ และเป็นทวาร อันเป็นทางให้เกิดกายทวารวิถีจิต

กายปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

โผฏฺฐพฺพาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่ กระทบโผฏฐัพพารมณ์ เป็นลักษณะ

โผฏฺฐพฺเพสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาโผฏฐัพพารมณ์ เป็นกิจ

กายวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของกายวิญญาณ เป็นผล

ผุสิตกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (โผฏฐัพพตัณหา) เป็นเหตุใกล้

กายปสาท คือประสาทกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ

๑. สสมฺภารกาย ได้แก่ กายที่ประกอบด้วยสสัมภารธาตุต่าง ๆ อันเป็นที่เกิด ของกายปสาท หรือ เรียกว่ากายทั้งหมดที่เราเห็นนั่นเอง รูปที่ประชุมรวมส่วน ต่าง ๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ที่น่าเกลียด และเป็นที่ประชุมแห่งอกุสลธรรม รูปนั้นชื่อว่า “กาย” ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด

๒. ปสาทกาย ได้แก่ กายปสาทอันตั้งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย ยกเว้นปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ ปลายฟัน และหนังที่หนา ๆ

สำหรับกายในที่นี้ หมายถึง ปสาทกายอย่างเดียว เพราะเป็นสภาพของ รูปปรมัตถ ที่เรียกว่ากายปสาทนั้นคือ ธรรมชาติที่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับกระทบความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง และ ความเคร่งตึง ตั้งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต

ข. เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของกายทวาร ในปัญจทวารวิถี

อนึ่ง คำว่า กาย นี้ยังจำแนกเป็น ๔ ประการ เรียกกันสั้น ๆ ว่า กาย ๔ คือ

(๑) ปสาทกาย ได้แก่ กายปสาทรูป

(๒) รูปกาย ได้แก่ รูป ๒๗ (เว้นกายปสาทรูป)

(๓) นามกาย ได้แก่ จิต เจตสิก

(๔) บัญญัตติกาย ได้แก่ สมูหบัญญัติ มี หัตถิกาย (กองช้าง) อัสสกาย (กองม้า) เป็นต้น

ประเภทที่ ๓ โคจรรูป

โคจรรูป ๔ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ และ รสารมณ์

คำว่า โคจรรูป แปลตามพยัญชนะ ก็ว่ารูปที่ท่องเที่ยวไปเหมือนโค แต่ในที่นี้ หมายความว่า รูปที่เป็นอารมณ์

โคจรรูป มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วิสยรูป คำว่า วิสย ตรงกับคำไทยว่า วิสัย ซึ่ง แปลว่า ขอบเขต แดน ความเป็นอยู่ แต่คำ วิสยรูป ในที่นี้ก็หมายความว่า รูปที่ เป็นอารมณ์ เช่นเดียวกัน

ดังนั้น วิสยรูป หรือโคจรรูป จึงมีความหมายเหมือนกันคือ “รูปที่เป็นอารมณ์ ของปัญจวิญญาณจิต” ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ

๑. รูปารมณ์ ได้แก่ วัณณะรูป คือ รูปที่ปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ

๒. สัททารมณ์ ได้แก่ สัททะรูป คือ เสียงต่าง ๆ

๓. คันธารมณ์ ได้แก่ คันธะรูป คือ กลิ่นต่าง ๆ

๔. รสารมณ์ ได้แก่ รสะรูป คือ รสต่าง ๆ

๕. ปฐวีโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ปฐวีรูป คือ อ่อน แข็ง

๖. เตโชโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ เตโชรูป คือ ร้อน เย็น

๗. วาโยโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ วาโยรูป คือ ไหว เคร่งตึง

วิสยรูป หรือโคจรรูปทั้ง ๗ นี้ ถ้านับรูปที่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะแล้วจะได้ ๔ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ส่วนโผฏฐัพพารมณ์ ทั้ง ๓ นั้น องค์ธรรมได้แก่ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ คือ มหาภูตรูป ๓ ที่ได้กล่าว มาแล้วนั่นเอง ดังนั้น “โผฏฐัพพารมณ์” จึงไม่มีสภาวะของตนเอง โดยเฉพาะ สาเหตุที่เรียก ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ว่า โผฏฐัพพารมณ์ ก็เพราะว่า ธาตุทั้ง ๓ นี้กระทบทางกายปสาทได้ เป็นอารมณ์ของกายวิญญาณได้ จึงเรียก โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งก็หมายถึงอารมณ์ที่มากระทบให้รู้ได้ทางกายปสาทนั่นเอง

๑๐. รูปารมณ์

รูปารมณ์ หมายถึงรูปที่เป็นอารมณ์ของ จักขุวิญญาณจิต ได้แก่ วัณณรูปที่ ปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ รูปารมณ์ หมายถึงวัณณรูปซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ของ จักขุวิญญาณ วัณณรูป หมายถึงรูปที่จะปรากฏให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ ยังไม่ได้เป็น อารมณ์ของจักขุวิญญาณจิต และการรู้สึกเห็นเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว สีแดง สีเหลือง ฯลฯ นั้นไม่ใช่เห็นด้วยจักขุวิญญาณจิต แต่เป็นการเห็นด้วยมโนวิญญาณ คือการเห็นทางมโนทวารแล้ว ไม่เห็นทางจักขุทวาร ถ้าเห็นทางจักขุทวารจะเห็น เพียงสีแล้วก็ดับไป แล้วจิตทางมโนทวารจึงรู้ว่าเป็นสีอะไร โดยอาศัยบัญญัติอารมณ์ ในอดีตนั้นมาตัดสินอีกทีหนึ่ง จึงรู้ว่าเป็นสีอะไร เป็นรูปอะไร เรียกรูปนั้นว่าอย่างไร

วัณณะ คือ สี หรือ รูป นี่เอง ที่กระทบกับจักขุปสาทรูป และทำให้เกิด จักขุ วิญญาณขึ้น วัณณะที่มาเป็นอารมณ์ให้แก่จักขุวิญญาณจิตนี่แหละได้ชื่อว่า รูปารมณ์

รูปใดที่ปรากฏให้เห็นทางจักขุทวาร ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จักขุวิญญาณ เป็นผู้เห็นที่เราเรียกกันว่า “เห็นด้วยตา” นั่นแหละเรียกว่า “รูปารมณ์” แต่ถ้ารูป ต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จักขุวิญญาณไม่ได้ทำหน้าที่เห็น แต่รู้สึก เห็นด้วยการคิดเอานึกเอาก็ไม่เรียกว่ารูปารมณ์ จัดเป็นธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ ด้วยใจ เห็นด้วยใจ ไม่ใช่เห็นด้วยตา

๑๑. สัททารมณ์

สัททารมณ์ หมายถึง เสียงที่กำลังเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณจิต ได้แก่ “สัททรูป” ที่ปรากฏให้ได้ยินเป็นเสียงต่าง ๆ สัททารมณ์ กับสัททรูป ต่างกันดังนี้

๑. สัททารมณ์ หมายถึงเสียงที่กำลังเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณจิต จิตกำลัง ได้ยินเสียงนั้น เสียงที่จิตกำลังได้ยินนั้น เรียกว่า สัททารมณ์

๒. สัททรูป หมายถึงเสียงที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของ โสตวิญญาณจิต และเสียง ที่เราได้ยินรู้ว่าเขาพูดอะไร หมายความว่าอย่างไร ก็ไม่เรียกว่าสัททารมณ์ เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนทวาร ถ้าเป็นสัททารมณ์ จะต้องได้ยินแล้ว ก็ดับไป โดยไม่รู้ความหมายอะไร การที่รู้ความหมายจากเสียงนั้น ก็เพราะว่า เสียง ที่เป็นอารมณ์ทางโสตทวารนั้นดับไปแล้ว จากนั้นจิตที่เกิดทางมโนทวารรับการ ได้ยินไปคิด นึก โดยอาศัยบัญญัติอารมณ์ในอดีตมาตัดสิน จึงรู้ว่าเสียงที่ดับไปแล้ว นั้น มีความหมายว่าอย่างไร

สัททะ คือ เสียง ที่กระทบโสตปสาทรูป และทำให้เกิดโสตวิญญาณขึ้น สัททะที่มาเป็นอารมณ์ให้แก่โสตวิญญาณจิตนี่แหละ ได้ชื่อว่า สัททารมณ์

รูปที่ทำให้โสตวิญญาณจิตรู้ได้ รูปนั้นเรียกว่า สัททรูป คือเสียงที่ปรากฏให้ ได้ยินทางโสตทวารทั้งเสียงที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มีโสตวิญญาณเป็นผู้ทำ หน้าที่ได้ยิน ที่เรียกว่าได้ยินด้วยหูนั่นแหละเรียกว่า สัททรูป

เสียงใดที่ปรากฏให้ได้ยินทางโสตทวาร ทั้งเสียงที่เกิดจากสิ่งที่มีชีวิตและไม่มี ชีวิต มีโสตวิญญาณทำหน้าที่ได้ยิน ที่เรียกว่า ได้ยินด้วยหูนั่นแหละเรียกว่า สัททา-รมณ์ แต่ถ้าเสียงต่าง ๆ เหล่านั้นโสตวิญญาณไม่ได้ทำหน้าที่ได้ยิน แต่รู้สึกได้ยิน ด้วยใจ เช่นคิดถึงทีไรก็รู้สึกได้ยินก้องอยู่ในใจทุกที อย่างนี้ไม่ใช่สัททารมณ์ แต่เป็น ธัมมารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจทางมโนทวาร ไม่ใช่รู้ได้ด้วยโสตวิญญาณ

สัททารมณ์นี้ จะปรากฏได้เฉพาะที่โสตปสาทได้ยินด้วยโสตวิญญาณเท่านั้น ถ้ารู้สึกได้ยินทางมโนวิญญาณ รู้ได้ทางมโนทวาร ก็ไม่เรียกว่า สัททารมณ์

๑๒. คันธารมณ์

คันธารมณ์ หมายถึง รูปที่กำลังเป็นอารมณ์ของ “ฆานวิญญาณ” ได้แก่ คันธรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นกลิ่น คันธรูปจึงหมายถึงกลิ่นที่มีอยู่ทั่วไป ส่วนคันธา รมณ์จึงหมายถึง กลิ่นที่กำลังเป็นอารมณ์ของจิตที่ชื่อว่า ฆานวิญญาณ

คันธรูป เป็นรูปที่ปรากฏเป็นกลิ่น และกลิ่นนั้นยังไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิตที่ ชื่อว่า ฆานวิญญาณ จึงเรียกว่าคันธรูป และการที่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร กลิ่นหอมหรือ เหม็นนั้น ไม่ใช่รู้ทางฆานทวาร และไม่ใช่รู้โดยฆานวิญญาณ แต่เป็นการรู้โดยทาง มโนทวาร และรู้ด้วยมโนวิญญาณ เรียกว่าธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ การรู้ ด้วยใจนี้ อาศัยบัญญัติอารมณ์ที่เคยสั่งสมมาในอดีตมาตัดสินอีกทีหนึ่ง จึงรู้เป็นกลิ่น อะไร กลิ่นเหม็นหรือหอม เป็นต้น

รูปใดแสดงที่อาศัยของตนให้ปรากฏ รูปนั้นชื่อว่า คันธะ คันธรูปนี้เป็นรูป ที่แสดงถึงวัตถุสิ่งของที่คันธรูปอาศัยอยู่นั้นให้ปรากฏรู้ได้ ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นอะไร จะมีกลิ่น คือคันธรูปอยู่ด้วยเสมอไป คล้าย ๆ กับว่า คันธรูปนี้เป็นตัวแสดงให้รู้ว่า กลิ่นนี้เป็นกลิ่นอะไร ลอยมาจากที่ไหน

คันธ คือ กลิ่น หมายถึง น้ำมันระเหย ที่กระทบกับฆานปสาทรูป และทำให้ เกิดฆานวิญญาณขึ้น คันธะที่มาเป็นอารมณ์ให้แก่ ฆานวิญญาณจิตนี่แหละ ได้ชื่อว่า คันธารมณ์อนึ่งคำว่า คันธะ นี้ยังจำแนกได้เป็น ๔ ประการเรียกสั้น ๆ ว่า คันธะ ๔ คือ

(๑) สีลคนฺธ ได้แก่ กลิ่นแห่งศีล องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ

(๒) สมาธิคนฺธ ได้แก่ กลิ่นแห่งสมาธิ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมา สติ และสัมมาสมาธิ

(๓) ปญฺญาคนฺธ ได้แก่ กลิ่นแห่งปัญญา องค์ธรรมได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

คันธะในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงตัวกลิ่นที่หอมหรือเหม็นนั้น แต่หมายถึงว่า เป็น การฟุ้งไปทั่ว กระจายไปทั่ว แผ่ทั่วไป

กลิ่นหอมหรือเหม็นนั้น ตามปกติย่อมกระจายไปตามลม และไปได้ในบริเวณ แคบไม่กว้างไม่ไกลนัก แต่การกระจาย การแผ่ไปของ สีล สมาธิ ปัญญา นั้นไปได้ทั้งตามลมและทวนลม ทั้งแผ่ไปได้ทั่วไม่มีขอบเขตอันจำกัดเลย

(๔) อายตนคนฺธ ได้แก่ กลิ่นแห่งอายตนะ คือ การกระทบกันระหว่างกลิ่น กับฆานปสาทและฆานวิญญาณ องค์ธรรมได้แก่ คันธารมณ์ คือ

สุคนฺธกลิ่น = กลิ่นที่ดี

ทุคนฺธกลิ่น = กลิ่นที่ไม่ดี

๑๓. รสารมณ์

รสารมณ์ หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ ได้แก่ รสรูปที่ปรากฏ เป็นรสต่าง ๆ ระหว่างรสารมณ์ กับรสรูป

รสารมณ์ หมายถึงรสรูป ซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ จึงเรียกว่า รสารมณ์

รสรูป หมายถึงรสที่มีอยู่ในวัตถุต่าง ๆ ยังไม่ได้เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ เรียกรสนั้น ๆ ว่า รสรูป และการรู้สึกต่อรสว่า รสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็มต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่รู้ด้วยชิวหาวิญญาณ แต่เป็นการรู้ด้วยมโนวิญญาณ จึงจัดเป็นธัมมารมณ์ คือ รู้ด้วยใจคิดนึก ถ้ารู้ด้วยชิวหาวิญญาณจะปรากฏเป็นรสเท่านั้น แล้วก็ดับไป ยัง ไม่รู้ว่าเป็นรสอะไร รสที่รู้ด้วยชิวหาวิญญาณนี้แหละ เรียกว่า รสารมณ์

รสะ คือ รสที่กระทบกับชิวหาปสาท และทำให้เกิดชิวหาวิญญาณขึ้น รสะที่ มาเป็นอารมณ์ให้แก่ชิวหาวิญญาณจิตนี่แหละ ได้ชื่อว่า รสารมณ์

อนึ่งคำว่า รสะนี้ยังจำแนกได้เป็น ๔ ประการ เรียกสั้น ๆ ว่า รสะ ๔ คือ

(๑) ธมฺมรส ได้แก่ รสแห่งธรรม ซึ่งมีทั้งกุสล และอกุสล องค์ธรรมได้แก่ มัคคจิตตุปปาท ๔ โลกียกุสลจิต ๑๗ อกุสลจิต ๑๒ คือ ธรรมอันเป็นกุสลและ อกุสลทั้งปวง

(๒) อตฺถรส ได้แก่ รสแห่งอรรถธรรม คือ ธรรมที่เป็นผลของกุสล และ อกุสลทั้งปวง องค์ธรรมได้แก่ ผลจิตตุปปาท ๔ โลกียวิบากจิต ๓๒ คือ ธรรม อันเป็นผลของกุสลและอกุสลทั้งหมด

(๓) วิมุตฺติรส ได้แก่ รสแห่งความหลุดพ้น คือพระนิพพาน

(๔) อายตนรส ได้แก่ รสแห่งการกระทบกันระหว่างรสรูปกับชิวหาวิญญาณ องค์ธรรมได้แก่ รสารมณ์ เมื่อประมวลแล้วทั้งหมดมี ๖ รส คือ อมฺพิล เปรี้ยว, มธุร หวาน, โลณิก เค็ม, กฏุก เผ็ด, ติตฺต ขม, และ กสาว ฝาด

โผฏฐัพพารมณ์

โผฏฐัพพารมณ์ หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของกายวิญญาณจิต ได้แก่ ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง ที่มากระทบ กับกายปสาท ซึ่งคำวิเคราะห์ศัพท์ว่า “ผุสิตพฺพนฺติ-โผฏฐพฺพํ” แปลว่า รูปที่ กายปสาทพึงถูกต้องได้ รูปนั้นชื่อว่า “โผฏฐัพพะ” โผฏฐัพพารมณ์ ๓ อย่าง คือ

๑. ปฐวีโผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ ปฐวีธาตุที่มีลักษณะแข็ง หรืออ่อน

๒. เตโชโผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ เตโชธาตุที่มีลักษณะร้อนหรือเย็น

๓. วาโยโผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ วาโยธาตุที่มีลักษณะหย่อนหรือตึง

โผฏฐัพพารมณ์ คือ มหาภูตรูป ๓ ได้แก่ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ส่วนอาโปธาตุนั้นถูกต้องด้วยกายปสาทไม่ได้ จึงเป็นโผฏฐัพพารมณ์ไม่ได้ เพราะ อาโปธาตุนั้นเป็นธาตุที่รู้ได้ด้วยใจ จะรู้ด้วยประสาทอื่น ๆ ไม่ได้ จึงจัดอาโปธาตุนั้น เป็นธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ด้วยการคิดนึกเข้าถึงเหตุผลเท่านั้น

รูปารมณ์ ๑ สัททารมณ์ ๑ คันธารมณ์ ๑ รสารมณ์ ๑ และโผฏฐัพพารมณ์ ๓ รวม ๗ รูปนี้มีชื่อเรียกว่าวิสยรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นที่อาศัยการรู้ของปัญจวิญญาณ จิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และ ทางกาย บางทีก็เรียกว่า โคจรรูป ที่เรียกว่าโคจรรูป ก็เพราะว่าเป็นรูปที่โคจรของจิตและเจตสิกนั่นเอง

ประเภทที่ ๔ ภาวรูป

ภาวรูป คือ รูปที่แสดงให้รู้สภาพหญิงและชาย ด้วยอาศัยรูปร่าง สัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย อัธยาสัย และกิริยาอาการเป็นเครื่องแสดงให้รู้

ภาวรูปมี ๒ คือ

๑. อิตถีภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นหญิง (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)

๒. ปุริสภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นชาย (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)

๑๔. อิตถีภาวรูป

อิตถีภาวรูป คือ รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นหญิง รูปใดที่เป็นเหตุแห่งความ เป็นหญิง รูปนั้นชื่อว่า อิตถีภาวะ

อิตถีภาวรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อิตฺถีภาว ลกฺขณํ มีสภาพของหญิง เป็นลักษณะ

อิตฺถีติปกาสน รสํ มีปรากฏการณ์ของหญิง เป็นกิจ

อิตฺถีลิงฺคาทีนํ การณภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีอาการของหญิงเป็นต้น เป็นผล

จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุใกล้

๑๕. ปุริสภาวรูป

ปุริสภาวรูป คือ รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นชาย รูปใดเป็นเหตุแห่งความเป็น ชาย รูปนั้นชื่อว่า ปุริสภาวะ

ปุริสภาวรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ปุริสภาว ลกฺขณํ มีสภาพของชาย เป็นลักษณะ

ปุริโสติปกาสน รสํ มีปรากฏการณ์ของชาย เป็นกิจ

ปุริสลิงฺคาทีนํ การณภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีอาการของชายเป็นต้น เป็นผล

จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้

ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ที่จะรู้ว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย มีสิ่งที่เป็นเครื่อง อาศัยให้รู้ได้ ๔ ประการ คือ

(๑) ลิงฺค ได้แก่ รูปร่างสัณฐาน ที่บอกเพศอันมีมาแต่กำเนิดซึ่งจะปรากฏ ตั้งแต่เมื่อคลอดออกมา เช่น มีแขน ขา หน้าตา เพศ ซึ่งแสดงตั้งแต่กำเนิด

(๒) นิมิตฺต เครื่องหมาย หรือสภาพความเป็นอยู่ เครื่องหมายนั้นหมายถึง สิ่งที่ปรากฏต่อมา สำหรับหญิงอกก็เริ่มโตขึ้น สำหรับชายก็มีหนวดมีเคราส่วนสภาพ ความเป็นอยู่นั้น หญิงก็ชอบเย็บปักถักร้อยเข้าครัว ชายก็ชอบต่อยตียิงปืนผาหน้าไม้ (๓) กุตฺต หมายถึง นิสัย คือความประพฤติที่เคยชิน หญิงก็นุ่มนวล อ่อนโยน เรียบร้อย ส่วนชายก็ห้าวหาญ เข้มแข็ง ว่องไว การเล่นของชายกับหญิง ก็ไม่เหมือนกัน ชายชอบยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ หญิงก็จะเล่นการทำอาหาร ฯลฯ

(๔) อากปฺป ได้แก่ กิริยาอาการ เช่น การเดิน ยืน นั่งนอน การกิน การพูด ถ้าเป็นหญิงก็จะเอียงอาย แช่มช้อยนุ่มนวล ถ้าเป็นชายก็จะองอาจ เด็ดเดี่ยว หรือ แข็งกร้าว เป็นต้น

ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องแสดงให้รู้ถึงเพศหญิงหรือชาย ย่อมปรากฏไปตาม ภาวรูปทั้ง ๒ ถ้ามีอิตถีภาวรูปเป็นผู้ปกครองในร่างกายนั้น ก็จะมีรูปร่างสัณฐาน มีกิริยาอาการเป็นหญิง ถ้ามีปุริสภาวรูปเป็นผู้ปกครองในร่างกายนั้น ก็จะมีรูปร่าง สัณฐาน มีกิริยาอาการเป็นชาย ทั้งนี้ก็เพราะเนื่องจากกรรม คือ

ผู้ที่ได้อิตถีภาวรูป เพราะชาติแต่ปางก่อนได้ประกอบกุสลกรรมอย่างอ่อนที่ เรียกว่า ทุพฺพลกุสลกมฺม เป็นกรรมที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสก็จริง แต่ก็เจือปน ไปด้วยความไหวหวั่น (อวิสทฺธาการ)

ส่วนผู้ที่ได้ปุริสภาวรูป เพราะอดีตชาติได้ประกอบกุสลกรรมที่สูงส่งด้วยสัทธา ความเลื่อมใส แรงด้วยอธิโมกข์ความชี้ขาด ปราศจากความหวั่นไหว อันจะเป็นเหตุ ให้เกิดความย่อหย่อน กุสลกรรมอย่างนี้เรียกว่า พลวกุสลกมฺม เป็นกุสลกรรมอัน ทรงพลัง จึงยังผลให้เกิดเป็นชาย

ประเภทที่ ๕ หทยรูป

หทยรูป คือ รูปที่เป็นที่ตั้งอาศัยเกิดของจิตและเจตสิก เพื่อทำกิจให้สำเร็จ เป็นกุสลหรืออกุสล สำหรับในปัญจโวการภูมิแล้ว ถ้าไม่มีหทยรูปเป็นที่ตั้งอาศัยเกิด ของจิตและเจตสิกแล้ว ก็จะไม่สามารถทำงานต่าง ๆ ตลอดจนการคิดนึกเรื่องราว ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นรูปที่เป็นเหตุให้สำเร็จการงานต่าง ๆ จึงชื่อว่า หทยรูป

สัตว์ทั้งหลายย่อมทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ โดยอาศัยรูป นั้น ดังนั้นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ นั้นชื่อว่า หทยรูป

๑๖. หทยรูป

หทยรูป แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง

(๑) มังสหทยรูป ได้แก่ รูปหัวใจที่มีสัณฐานคล้ายดอกบัวตูมที่แกะกลีบ ออกมา แล้วเอาปลายห้อยลง ภายในนั้นเหมือนรังบวบขม

(๒) วัตถุหทยรูป ได้แก่ รูปที่อาศัยเกิดอยู่ในมังสหทยรูป เป็นรูปที่เกิดจาก กรรม ที่ตั้งของหทยรูปนั้น ตั้งอยู่ในช่องที่มีลักษณะเหมือนบ่อ โตประมาณเท่าเมล็ด ดอกบุนนาค ในช่องนี้มี น้ำเลี้ยงหัวใจ หล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ เป็นที่ อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกที่ชื่อว่า มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ สถานที่ตรงนี้เอง ที่เรียกว่า หทยรูป หรือ วัตถุหทยรูป

น้ำเลี้ยงหัวใจนี้แหละเป็นที่อาศัยให้เกิดจิต ๗๕ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และอรูปวิบาก ๔ ) อันเป็นปัจจัยให้เกิดทั้งความดีและความชั่ว

น้ำเลี้ยงหัวใจ คือ หทยรูป หรือ หทยวัตถุ หรือ วัตถุหทยรูป นี้มีมากสี ด้วยกัน ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่จริตของบุคคล กล่าวคือ

บุคคลที่มากด้วย ราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี แดง

" " โทสจริต " " ดำ

" " โมหจริต " " หม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ

" " วิตกจริต " " เหมือนน้ำเยื่อถั่วพู

" " สัทธาจริต " "เหลืองอ่อนคล้ายสีดอกกัณณิกา

" " พุทธิจริต " " ขาวเหมือนสีแก้วเจียรนัย

หทยรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

มโนธาตุมโนวิญฺญาณธาตูนํ นิสฺสย ลกฺขณํ มีการให้มโนธาตุ และมโน- วิญญาณธาตุได้อาศัยเกิด เป็นลักษณะ

ตาสญฺเญว ธาตูนํ อธารน รสํ มีการทรงไว้ซึ่งธาตุดังกล่าว เป็นกิจ

ตทุพฺพหน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการรักษาไว้ซึ่งธาตุดังกล่าว เป็นผล

จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้

หทยรูป คือ รูปที่เป็นที่ตั้งอาศัยเกิดของจิตและเจตสิก เพื่อทำกิจให้สำเร็จ เป็นกุสลหรืออกุสล สำหรับในปัญจโวการภูมิแล้ว ถ้าไม่มีหทยรูปเป็นที่ตั้งอาศัยเกิด ของจิตและเจตสิกแล้ว ก็จะไม่สามารถทำงานต่าง ๆ ตลอดจนการคิดนึกเรื่องราว ต่าง ๆ ได้เลย ฉะนั้น รูปที่เป็นเหตุให้สำเร็จการงานต่าง ๆ จึงชื่อว่า หทยรูป

สัตว์ทั้งหลายย่อมทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ โดยอาศัยรูป ดังนั้นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ชื่อว่า หทยรูป

ประเภทที่ ๖ ชีวิตรูป

ชีวิตรูป คือ รูปที่รักษากลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม

โดยธรรมชาติของรูปแต่ละกลุ่มรูป ย่อมมีสมุฏฐานให้เกิดอยู่ ๔ สมุฏฐาน คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ในกลุ่มรูปที่เกิดจากกรรมนั้น มีชีวิตรูปเป็นผู้ตามรักษา ตั้งแต่แรกเกิดให้ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปพร้อมกับกลุ่มรูปนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากกรรมที่ ทำให้รูปเกิดขึ้นนั้น มีหน้าที่ทำให้รูปเกิดเท่านั้น ไม่มีหน้าที่รักษา ชีวิตรูปเท่านั้นมี หน้าที่ตามรักษา เหมือนกลีบของดอกบัวทำหน้าที่รักษาเกษรบัวที่เกิดจากกอบัวแล้ว ก็เน่าไปพร้อมกับเกษรบัว ฉะนั้นกรรมทั้งหลายก็เช่นกันทำให้รูปเกิดด้วยอำนาจของ ตน แล้วก็มีชีวิตรูปที่เกิดจากกรรมนั่นแหละเป็นผู้รักษากลุ่มรูป ที่เกิดร่วมกันให้ตั้ง อยู่ แล้วก็ดับไปพร้อมกับกลุ่มรูปที่เกิดจากกรรมนั้น ๆ

๑๗. ชีวิตรูป

ชีวิตรูป เป็นชื่อของรูปที่เกิดจากกรรม ทำหน้าที่รักษากลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม ด้วยกันให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปพร้อมกับตน รูปทั้งหลายอยู่ได้ด้วยการอาศัยรูปนั้น ฉะนั้น รูปที่เป็นเหตุให้สหชาตรูปทั้ง หลายเป็นอยู่ได้นั้น เรียกว่า ชีวิตรูป

ชีวิตรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

สหชาตรูปานุปาล ลกฺขณํ มีการรักษาสหชาตรูป เป็นลักษณะ

เตสํ ปวตฺตน รสํ มีการธำรงไว้ซึ่งรูปเหล่านั้น เป็นกิจ

เตสญฺเญว ฐปน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการประกอบให้มั่นคงอยู่ เป็นผล

ยาปยิตพฺพ ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปที่เสมอภาค(ที่สมส่วน) เป็นเหตุใกล้

ที่ว่า มีการรักษาสหชาตรูปนั้น หมายเฉพาะรูปที่เกิดจากกรรม คือ กัมมชรูป เท่านั้น จึงต้องมีชีวิตรูปนี้รักษาให้คงอยู่และเป็นไปได้ตลอดอายุของรูปนั้น ๆ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องเป็นกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม จึงจะมีชีวิตรูปรักษา ให้กัมมชรูปนั้น ๆ ดำรงคงอยู่ได้

ส่วนต้นไม้ ไม่ได้เกิดจากกรรม จึงไม่มีชีวิตรูป แต่ที่ดำรงคงอยู่ได้เพราะอุตุ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง ดังปรากฏในภูตคามสิกขาบทวินัย พระบาลีว่า ชีวสญฺญิ โน หิ มนุสฺสา รกฺขสฺมึ มนุษย์ทั้งหลายมีความสำคัญว่า ต้นไม้นี้มีชีวิต

อนึ่งคำว่าชีวิต มีทั้งชีวิตรูป เป็นรูปธรรม ดังที่กล่าวอยู่ ณ บัดนี้ และ ชีวิต นาม เป็นนามธรรม (นามเจตสิก) ซึ่งได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๒ นั้น ส่วนคำว่า ชีวิตินทรีย เป็นศัพท์ที่รวมความหมายทั้ง ชีวิตรูป และชีวิตนาม ทั้ง ๒ อย่าง

เป็นใหญ่ในการรักษารูป องค์ธรรมได้แก่ ชีวิตรูป

เป็นใหญ่ในการรักษานาม องค์ธรรมได้แก่ ชีวิตินทรียเจตสิก

ประเภทที่ ๗ อาหารรูป

อาหารรูป คือ รูปที่เกิดจากอาหาร และรูปที่เกิดจากอาหารในที่นี้ หมายถึง อาหารที่กินเป็นคำ ๆ ซึ่งเรียกว่า กพฬีการาหาร

๑๘. อาหารรูป

อาหารรูป ในที่นี้หมายถึง กพฬีการาหาร อาหารที่กินเเป็นคำ ๆ หรือโภชนะ ใดอันบุคคลกินเป็นคำ ๆ หรือกระทำให้เป็นของกินโภชนะนั้นชื่อว่า กพฬีการาหาร

กพฬีการาหารนั้น หมายถึง โอชะรูป ที่มีอยู่ในอาหารต่าง ๆ เมื่อสัตว์ ทั้งหลายได้กินอาหาร โอชะที่อยู่ในอาหารนั้น ๆ ก็จะถูกปาจกเตโชอันเป็นเตโชธาตุ ที่เกิดจากกรรม ที่อยู่ในปากตลอดจนถึงทวารหนัก ก็จะทำหน้าที่เผา หรือย่อยออก เป็น ๒ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ เป็นกากทิ้งไป โดยระบายออกทางทวารต่าง ๆ

ส่วนที่ ๒ เป็นโอชะรูปอยู่ในร่างกายคนและสัตว์คอยทำหน้าที่ให้อาหารชรูป เกิดขึ้น คือ โอชะรูปที่อยู่ในร่างกายของคนและสัตว์นี้ทำให้ร่างกายของคนและสัตว์ ทั้งหลายมีกำลังและเติบโตขึ้น เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะทำหน้าที่ ให้ร่างกายสมบูรณ์ และมีชีวิตอยู่ได้

รูปที่ทำให้เจริญเติบโต และทำให้ร่างกายสมบูรณ์อยู่ได้นี้แหละ เรียกว่า อาหารชรูป แปลว่า รูปที่เกิดจากอาหาร หรือรูปที่เกิดจากโอชะรูปที่ได้มาจากกพฬี การาหาร นั่นเองรูปกายจะทรงอยู่ได้ ก็เพราะโอชาในอาหาร และโอชาธาตุในร่างกายร่วมกัน เกื้อกูลอุดหนุนไว้ ถ้าขาดเสียซึ่งอาหารแล้ว รูปเหล่านั้นก็จะถึงซึ่งความพินาศ ดำรงอยู่ไม่ได้

ที่เรียกว่าอาหาร ตามนัยแห่งรูปปรมัตถแล้ว หมายถึง โอชะรูปที่อยู่ในอาหาร นั้น ๆ ทำหน้าที่ทำให้อาหารชรูปเกิด คือ โอชะรูปที่ถูกจัดโดยปาจกเตโชนั่นเอง

รูปที่กล่าวมาแล้วรวม ๑๘ รูป นี้ ได้ชื่อว่า นิปผันนรูป หรือ สภาวรูป หรือ สลักขณรูป หรือ รูปรูป หรือ สัมมสนรูป รวม ๕ ชื่อด้วยกัน ตามความหมายของชื่อแต่ละชื่อนี้ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

ประเภทที่ ๘ ปริจเฉทรูป

ปริจเฉทรูป คือ รูปที่เป็นช่องว่างระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป มีทั้งสิ่งที่มี ชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นรูปที่คล้าย ๆ กับทำหน้าที่ให้รู้ถึงสัณฐานของรูปต่าง ๆ หรือ คล้ายกับเป็นผู้จำแนกให้รู้ได้ซึ่งรูปต่าง ๆ

ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีช่องว่างกั้นกลาง เสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า รูปนั้นมีจำนวนเท่าไร มีสัณฐานเป็นอย่างไร ต่อเมื่อ มีช่องว่างคั่นอยู่จึงกำหนดรู้ได้ว่า มีจำนวนเท่าไร มีสัณฐานอย่างไร และช่องว่าง นี่แหละ เรียกว่า อากาสธาตุบ้าง เรียกว่า ปริจเฉทรูปบ้าง

๑๙. ปริจเฉทรูป

ปริจเฉทรูป เป็นช่องว่างระหว่างรูปต่อรูป ระหว่างกลาปกับกลาป มีได้ทั้งใน สิ่งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ

ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปแล้ว จำนวนรูปกลาปก็มีไม่ได้ ที่สุดของรูปก็มีไม่ได้ เขต แดนของรูปก็มีไม่ได้ เพราะรูปเหล่านั้นจะติดกันเป็นพืดไปหมด ไม่มีรูปร่างสัณฐาน และก็นับจำนวนไม่ได้ด้วย

ปริจเฉทรูปนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า อากาสรูป อากาสนี้ยังจำแนกได้เป็น ๕ คือ

(๑) อชฺฏากาส ได้แก่ ที่ว่างในท้องฟ้าทั่วไป

(๒) กสิณุคฺฆาฏิมากาส ได้แก่ อากาศที่เพิกแล้วจากกสิณ อากาศที่เนื่องมา จากกสิณ

(๓) วิวรากาส อากาศในช่องโปร่ง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ขวด โอ่ง ไห

(๔) สุสิรากาส อากาศในโพรงทึบ เช่น ในปล้องไม้ไผ่ ในเห็ดเผาะ

(๕) ปริจฺเฉทากาส อากาศที่คั่นระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป คือ ปริจเฉท รูป หรืออากาศรูปนี่แหละ

อีกนัยหนึ่งแสดงว่าอากาศมีเพียง ๔ เท่านั้น คือ รวมวิวรากาสกับสุสิรากาส เข้าเป็นหนึ่ง เรียกว่า ปริจฺฉินฺนากาส คือ อากาศในช่องว่าง ไม่แยกเป็นทึบ หรือไม่ทึบ

ประเภทที่ ๙ วิญญัตติรูป

วิญญัตติรูป คือรูปที่แสดงให้ผู้อื่นรู้ความหมายหรือรู้ความประสงค์ วิญญัตติ รูปจะเคลื่อนไหวต้องมีจิตสั่งงานให้เคลื่อนไหว ทางกาย ทางวาจา นั่งนอน ยืนเดิน พูดเสียงดัง พูดค่อย พูดเพราะ พูดไม่เพราะ ก็อยู่ที่วิญญัตติรูป โดยจิตสั่งรูปชุดนี้ ให้ทำงาน

รูปใดทำให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ รูปนั้นชื่อว่า วิญญัตติรูป ชนทั้งหลายทำให้รู้ จิตใจซึ่งกันและกันได้โดยอาศัยรูปนั้น ฉะนั้นรูปนั้นชื่อว่า วิญญัตติรูป การแสดง ออกซึ่งวิญญัตติรูปนี้ เรียกกันอย่างสามัญว่า การไหวกาย และ การไหววาจา (การกล่าววาจา)

วิญญัตติรูป มี ๒ รูป คือ

(๑) กายวิญญัตติรูป คือ การเคลื่อนไหวของรูป ให้รู้ความประสงค์ทางกาย

(๒) วจีวิญญัตติรูป คือ การเคลื่อนไหวของรูปทางวาจา ให้รู้ความประสงค์ ทางวาจา

๒๐. กายวิญญัตติรูป

กายวิญญัตติรูป จำแนกได้ ๒ คือ

(๑) โพธนกายวิญฺญตฺติ ได้แก่ การไหวกาย จงใจให้ผู้อื่นรู้ความหมาย เช่น โบกมือ กวักมือเรียก เป็นต้น

(๒) ปวตฺตนกายวิญฺญตฺติ ได้แก่ การไหวกาย โดยไม่ได้จงใจให้เป็น ความหมายแก่ผู้ใด เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน หรือวิ่ง เป็นต้น แม้ว่าจะ ไม่ได้เจาะจงให้เป็นความหมายแต่ผู้อื่นก็รู้ได้ว่า เรานั่ง นอน ยืน เดิน หรือวิ่ง

กายวิญญัตติรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

วิญฺญาปน ลกฺขณํ มีการแสดงให้รู้ซึ่งความหมาย เป็นลักษณะ

อธิปฺปายปกาสน รสํ มีการแสดงซึ่งความหมาย เป็นกิจ

กายวิปฺผนฺทนเหตุภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการไหวกาย เป็นผล

จิตฺตสมุฏฺฐานวาโยธาตุ ปทฏฺฐานํ มีวาโยธาตุของจิตตสมุฏฐาน เป็นเหตุใกล้

๒๑. วจีวิญญัตติรูป

วจีวิญญัตติรูป จำแนกได้ ๒ คือ

(๑) โพธนวจีวิญฺญตฺติ ได้แก่ การกล่าววาจา โดยจงใจให้ผู้อื่นรู้ความหมาย เช่น ตะโกนเรียก การเรียกชื่อกัน การบอกเล่า การสนทนากัน เป็นต้น

(๒) ปวตฺตนวจีวิญฺญตฺติ ได้แก่ การกล่าววาจา โดยไม่ได้จงใจจะให้เป็น ความหมายแก่ผู้ใด เช่น เปล่งเสียงออกมาเวลาตกใจ การไอ การจาม เป็นต้น แม้ว่าจะไม่เจาะจงให้ใครรู้ ไม่เจาะจงให้เป็นความหมาย แต่ผู้อื่นก็รู้ว่าเป็นเสียงตกใจ เสียงไอ เสียงจาม

ประเภทที่ ๑๐ วิการรูป

วิการรูป คือรูปที่แสดงอาการพิเศษของนิปผันนรูปให้ปรากฏมี ๓ รูป ได้แก่ รูปัสสลหุตา ๑ รูปัสสมุทุตา ๑ และ รูปัสสกัมมัญญตา ๑ แต่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ลหุตารูป(ความเบาของรูป), มุทุตารูป(ความอ่อนของรูป), กัมมัญญตารูป(การควร ของรูป)

วิเสสา อาการา วิการาฯ แปลว่า อาการพิเศษของรูป เรียกว่า วิการรูป

วิการรูปนี้ บางทีก็นับว่ามี ๕ รูป โดยนับกายวิญญัตติรูป และวจีวิญญัตติรูป รวมเข้าไปอีกด้วย

๒๒. ลหุตารูป

ลหุตารูป ได้แก่ รูปที่เป็นความเบาของนิปผันนรูป หรืออาการเบาของนิปผันนรูป

ลหุตารูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อทนฺธตา ลกฺขณา มีความเบา เป็นลักษณะ

รูปานํ ครุภาววิโนทน รสา มีการทำลายความหนักของรูป เป็นกิจ

ลหุปริวตฺติตา ปจฺจุปฏฺฐานา มีการทำให้ว่องไว เป็นผล

ลหุรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่เบา เป็นเหตุใกล้

๒๓. มุทุตารูป

มุทุตารูป ได้แก่ รูปที่เป็นความอ่อนของนิปผันนรูป หรือ อาการอ่อนของ นิปผันนรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อถทฺธตา ลกฺขณา มีความอ่อน เป็นลักษณะ

รูปานํ ตทฺธวิโนทน รสา มีการทำลายความกระด้างของรูป เป็นกิจ

สพฺพกริยาสุ อวิโรธิตา ปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่ขัดแย้งต่อกิจทั่วไป เป็นผล

มุทุรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่อ่อน เป็นเหตุใกล้

๒๔. กัมมัญญตารูป

กัมมัญญตารูป ได้แก่ รูปที่เป็นความควรของนิปผันนรูป หรืออาการควร ของนิปผันนรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

กมฺมญฺญภาว ลกฺขณา มีการควร เป็นลักษณะ

อกมฺมญฺญตา วิโนทน รสา มีการทำลายการไม่ควร เป็นกิจ

อทุพฺพลภาว ปจฺจุปฏฺฐานา มีการทรงไว้ซึ่งพลัง เป็นผล

กมฺมญฺญรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่ควร เป็นเหตุใกล้

วิการรูปทั้ง ๓ ดังกล่าวแล้ว มีความสัมพันธ์กันกับวิญญัตติรูป ๒ ก็ได้ ไม่ สัมพันธ์กับวิญญัตติรูป ๒ ก็ได้ คือ เกิดพร้อมกันก็ได้ ไม่เกิดพร้อมกันก็ได้

ถ้าวิญญัตติรูป เกิดพร้อมกับวิการรูป วิญญัตติรูปนั้นก็จะมีความเบา ความ อ่อน ความควรแก่การงานก็จะเกิดขึ้นทันที กล่าวคือ การเคลื่อนไหวทางร่างกายก็ จะรู้สึกเบา อ่อนโยน คล่องแคล่ว ควรแก่การงาน การเคลื่อนไหวทางวาจา เช่น การพูด การบรรยาย ก็จะมีความเบา ความอ่อนโยน ความคล่องแคล่ว ควรแก่ การงานเกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้น วิการรูปจึงมี ๓ หรือ ๕ คือ

๑. ลหุตารูป ๒. มุทุตารูป ๓. กัมมัญญตารูป ๔. วิการรูปที่เกิด พร้อมกับกายวิญญัตติ ๕. วิการรูปที่เกิดพร้อมกับวจีวิญญัตติ

และทั้งวิญญัตติรูป ๒ กับวิการรูป ๓ ก็อาศัยนิปผันนรูป หรือเป็นอาการ ของนิปผันนรูปนั่นเอง คือถ้าไม่มีนิปผันนรูป วิญญัตติรูป และวิการรูปก็มีไม่ได้

วิการรูป รูปที่แสดงอาการ คือ ความเปลี่ยนแปลงเป็นพิเศษรวม ๓ รูปนี้ ต้องเกิดมีขึ้นแก่สิ่งมีชีวิตเท่านั้น สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีวิการรูป วิการรูปนี้ เมื่อเกิดก็ เกิดร่วมกันพร้อมกันทั้ง ๓ รูป แต่อาจจะยิ่งหรือหย่อนกว่ากันได้

ประเภทที่ ๑๑ ลักขณรูป

ลักขณรูป คือ รูปที่แสดงความเกิดขึ้นให้ปรากฏ รูปที่แสดงความเจริญให้ ปรากฏ รูปที่แสดงความเสื่อมให้ปรากฏ รูปที่แสดงความดับไปให้ปรากฏ มี ๔ รูป คือ

(๑) รูปัสสอุปจย แปลว่า ความเกิดขึ้นของรูป

(๒) รูปัสสสันตติ " ความเจริญของรูป

(๓) รูปัสสชรตา " ความเสื่อมของรูป

(๔) รูปัสสอนิจจตา " ความแตกดับของรูป

ทั้ง ๔ รูป ดังกล่าวชื่อว่า ลักขณรูป คือ รูปที่มีกาลเวลาเป็นที่กำหนดในการ ชี้ขาด

ธรรมทั้งหลายอันบัณฑิตกำหนดรู้ได้ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นสังขตะด้วยอาศัย รูปนี้ ฉะนั้นรูปที่เป็นเหตุแห่งการกำหนดรู้ได้นั้น ชื่อว่า ลักขณะ

สังขตธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก และ รูป ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ คือ ๑. กรรม ๒. จิต ๓. อุตุ ๔. อาหาร

ในเมื่อจิต เจตสิก และรูป ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ ดังนี้ ก็จะปรากฏให้รู้ ได้ว่า

๑. จิต ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

๒. เจตสิก ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

๓. รูป ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ความที่ปรากฏให้รู้ได้ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่แหละ เรียกว่า ลักขณะ หรือลักษณะ และลักขณะนี้จะมีอยู่ในจิต เจตสิก รูป เท่านั้น

๒๕. อุปจยรูป

อุปจยรูป คือ รูปที่เกิดครั้งแรก หรือรูปที่มีขึ้นครั้งแรก ปรากฏขึ้นครั้งแรก ของนิปผันนรูปนั่นเอง มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อาจย ลกฺขโณ มีการแรกเกิด เป็นลักษณะ

รูปานํ อุมฺมชฺชาปน รโส มีการทำให้บรรดารูปได้เกิด เป็นกิจ

ปริปุณฺณภาว ปจฺจุปฏฺฐาโน มีสภาพที่บริบูรณ์ของรูป เป็นผล

อุปจิตรูป ปทฏฺฐาโน มีรูปที่๒๖. สันตติรูป

สันตติรูป คือ รูปที่เกิดสืบต่อกันกับอุปจยรูป หรือ รูปที่มีต่อ สืบต่อจาก อุปจยรูปของนิปผันนรูป นั่นเอง

ความเกิดขึ้นสืบต่อกันของนิปผันนรูป ชื่อว่า สันตติ กล่าวคือ เมื่อรูปนั้น ๆ เกิดขึ้นครั้งแรกแล้ว รูปที่เกิดสืบต่อจากรูปที่เกิดครั้งแรกนั่นเอง เรียกว่า สันตติรูป

สันตติรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ปวตฺติ ลกฺขณา มีการเจริญอยู่ เป็นลักษณะ

อนุปฺปพนฺธน รสา มีการสืบต่อ เป็นกิจ

อนุปจฺเฉท ปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่ขาดจากกัน เป็นผล

อนุปพนฺธกรรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่ยังให้ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุใกล้

กำลังจะเกิด เป็นเหตุใกล้

๒๗. ชรตารูป

ชรตารูป คือ รูปที่เป็นความแก่ของนิปผันนรูป หรือรูปที่กำลังเสื่อมไปของ นิปผันนรูป ภาวะแห่งความแก่ของนิปผันนรูป ชื่อว่า ชรตา

ชรตารูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

รูปปริปาก ลกฺขณา มีการเสื่อมของรูป เป็นลักษณะ

อุปนยน รสา มีการนำไปซึ่งความเสื่อม เป็นกิจ

นวภาวาปคมน ปจฺจุปฏฺฐานา มีสภาพที่ไม่เกิดใหม่ เป็นผล

ปริปจฺจมานรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่เสื่อม เป็นเหตุใกล้

๒๘. อนิจจตารูป

อนิจจตารูป คือ รูปที่ดับไป หรือรูปที่หมดไปของนิปผันนรูป

ความดับของนิปผันนรูป ชื่อว่า อนิจจตา

อนิจจตารูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

ปริเภท ลกฺขณา มีการเสื่อม เป็นลักษณะ

สํสีทน รสา มีการจมดิ่ง เป็นกิจ

ขยวย ปจฺจุปฏฺฐานา มีการสูญหาย เป็นผล

ปริภิชฺชมานรูป ปทฏฺฐานา มีรูปที่แตกดับ เป็นเหตุใกล้

อุปจยรูป คือ รูปที่เกิดขึ้นเป็นขณะแรก หรือ การสั่งสมรูปเป็นปฐมใน ปฏิสนธิกาลสันตติรูป คือ รูปที่เจริญหรือขยายตัว เป็นการสืบต่อแห่งรูปรูปทั้ง ๒ คือ อุปจยรูป และสันตติรูปนี้ มีชื่ออีกนัยหนึ่งว่า ชาติรูป หรือ อุปปาทะรูปชรตารูป คือ รูปที่เสื่อม ทรุดโทรม คร่ำคร่าแก่ มีชื่ออีกนัยหนึ่งว่า ชรารูป หรือ ฐีติรูปอนิจจตารูป คือ รูปที่แตกดับสูญสิ้นไป มีชื่ออีกนัยหนึ่งว่า มรณรูป หรือ ภังครูป